PROSPECT REIT จ่ายปันผลไตรมาส 2/2566 สุดแกร่ง 0.2200 บาทต่อหน่วย ตอกย้ำคุณภาพทรัพย์สินหนุนรายได้โตตามคาด สูงถึง 28.38% จากไตรมาสก่อน
กรุงเทพฯ, 11 สิงหาคม 2566 – บริษัท พรอสเพค รีท แมเนจเมนท์ จำกัด ผู้จัดการกองทรัสต์ ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ พรอสเพค โลจิสติกส์และอินดัสเทรียล หรือ “PROSPECT REIT” เปิดศักยภาพผลประกอบการไตรมาสที่ 2/2566 พุ่งแรง โดยมีรายได้จากการดำเนินงานรวม 144.30 ล้านบาท เติบโตจากไตรมาสก่อนคิดเป็น 28.38% หนุนกำไรจากการลงทุนสุทธิสูงถึง 81.91 ล้านบาท หลังรับรู้รายได้การดำเนินงานของทรัพย์สินใหม่บนทำเลยุทธศาสตร์ ถนนบางนา-ตราด โครงการบางกอกฟรีเทรดโซน 2 และ 3 (BFTZ 2 และ BFTZ 3) เต็มไตรมาส มีอัตราการเช่าเฉลี่ยรวมทุกโครงการสูงถึง 95.4% ชี้นักลงทุนจีนให้ความสนใจใช้พื้นที่คลังสินค้าและโรงงานภายใต้การจัดการของกองทรัสต์เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการเล็งย้ายฐานการผลิตเข้ามายังประเทศไทย
เตรียมประกาศจ่ายผลตอบแทนจากกำไรสุทธิจากผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 – 30 มิถุนายน 2566 ในอัตรา 0.2200 บาทต่อหน่วย โดยจะประกาศขึ้นเครื่องหมายวันที่ไม่ได้สิทธิรับเงินปันผล (XD) วันที่ 29 สิงหาคม 2566 และ กำหนดจ่ายเงินออกให้แก่ผู้ถือหน่วยในวันที่ 11 กันยายน 2566
นางสาวอรอนงค์ ชัยธง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พรอสเพค รีท แมเนจเมนท์ จำกัด ในฐานะผู้จัดการกองทรัสต์ กล่าวว่า “ภาพรวมผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2566 ถือว่าโดดเด่นอย่างมาก โดยเฉพาะ 2 โครงการใหม่ BFTZ 2 ถนนเทพารักษ์ และ BFTZ 3 ถนนบางนา-ตราด กม. 19 ดึงดูดผู้เช่าครอบคลุมอุตสาหกรรมที่กำลังมาแรง ได้แก่ ธุรกิจผลิต Solar Cell และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง, ธุรกิจผลิตเแบตเตอรี่และชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า EV, ธุรกิจอุปโภค บริโภค เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศจีน ซึ่งหลีกเลี่ยงสงครามทางการค้าและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้ไตรมาสนี้ตัวเลขผลประกอบการขยับเพิ่มสูงขึ้น สามารถจ่ายเงินปันผลได้ตามคาดการณ์ สะท้อนคุณภาพของทรัพย์สินเดิมและทรัพย์สินใหม่ในทำเลศักยภาพ บนพื้นที่ผังเมืองสีม่วงสำหรับประกอบการอุตสาหกรรม รวมถึงมีพื้นที่เขตปลอดอากร Free Zone ตอบโจทย์ธุรกิจที่มีการนำเข้า-ส่งออก มั่นใจว่าจะสามารถบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีและสม่ำเสมอให้แก่ผู้ถือหน่วยในระยะยาว”
การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ สอดคล้องกับข้อมูลรายงานการส่งเสริมการลงทุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยพบว่าช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่าลงทุนรวม 364,420 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป และอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น ยางล้อ เพลาล้อ ชิ้นส่วนระบบส่งกำลังแบบ Hybrid และสถานีบริการชาร์ตไฟฟ้ารถยนต์ EV นอกจากอุตสาหกรรมเป้าหมายแล้วยังมีอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มีการขอรับการส่งเสริมจำนวนมาก คือ อุตสาหกรรมการผลิตพลังงานไฟฟ้า ในจำนวนนี้เป็นโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ
“การเติบโตของกองทรัสต์ประเภทโรงงานและคลังสินค้า ในช่วงครึ่งปีหลังยังคงสดใส หากดูจากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยมีทิศทางที่ดี ซึ่งถือเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ธุรกิจคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าเติบโตได้ดี และด้วยจุดแข็งของ PROSPECT REIT ที่มีทรัพย์สินตั้งอยู่พื้นที่ผังเมืองสีม่วงสำหรับประกอบการอุตสาหกรรม ผู้เช่าสามารถใช้พื้นที่ประกอบกิจการได้ทั้งอาคารคลังสินค้าและประกอบกิจการโรงงานได้ มีอาคารคุณภาพสูงใช้พื้นที่ได้เต็มศักยภาพ และมี Property Manager ที่มีความเชี่ยวชาญ ให้บริการแบบ One-Stop-Service อำนวยความสะดวก อาทิ การขอใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการให้กับผู้เช่า จุดเด่นเหล่านี้สามารถสร้างแต้มต่อและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาเช่าพื้นที่โครงการได้ ล่าสุดอัตราการใช้พื้นที่อาคารเพื่อประกอบกิจการโรงงานสูงถึง 79% ขณะเดียวกันเรามีเป้าหมายชัดเจนในการขยายมูลค่าสินทรัพย์รวมสู่ 10,000 ล้านบาท ภายในปี 2567 โดยวางแผนศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในทรัพย์สินใหม่ที่มีคุณภาพภายในปีนี้ เพื่อเสริมให้ผลการดำเนินงานของ PROSPECT REIT แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง” นางสาวอรอนงค์ กล่าวเสริม
ทั้งนี้ PROSPECT REIT เผยถึงเทรนอุตสาหกรรมที่น่าจับตาจากสถิติที่มีนักลงทุนเข้ามาติดต่อขอเช่าพื้นที่ อันได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนที่เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า EV รวมถึงอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการอุปโภค บริโภค พร้อมแนวโน้มการยกระดับอีโคซิสเต็มของภาคอุตสาหกรรมที่ผู้เช่าในกลุ่มธุรกิจเกี่ยวเนื่องจะเลือกใช้พื้นที่โครงการทำเลเดียวกันขยายเป็นคลัสเตอร์ในแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อเอื้อต่อการลดต้นทุนขนส่งวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนการผลิต